ESG @ThaiNamthip | ThaiNamthip

ThaiNamthip | menu
TH
ภาษาไทย
ENGLISH
ThaiNamthip | Logo
เกี่ยวกับเรา
ประวัติไทยน้ำทิพย์
คณะผู้บริหาร
ผลิตภัณฑ์
ลูกค้าและการบริการ
บริการสำหรับลูกค้า
พื้นที่ให้บริการ
การขายบนแอปพลิเคชัน
ThaiNamthip | menu
TH
ภาษาไทย
ENGLISH
ThaiNamthip | Logo
เกี่ยวกับเรา
ประวัติไทยน้ำทิพย์
คณะผู้บริหาร
ลูกค้าและการบริการ
บริการสำหรับลูกค้า
พื้นที่ให้บริการ
การขายบนแอปพลิเคชัน
บริษัทมีการกำหนดระบบบริหารจัดการและการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งมีการแบ่งแยกอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบออกจากกันอย่างชัดเจนระหว่างบทบาทใน (1) การบริหารจัดการ (2) การกำกับดูแล และ (3) การปฏิบัติงาน ตลอดจนมีกลไกการควบคุมและการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการของกลุ่มบริษัทไทยน้ำทิพย์เป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ รายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการของบริษัทกำหนดไว้ในกฎบัตรและกรอบอำนาจอนุมัติ (Chart of Authority)
โครงสร้างของการบริหารจัดการของบริษัท

1. ที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีอำนาจสูงสุดในบริษัท สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของบริษัท เว้นแต่กฎหมายหรือข้อบังคับบริษัทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นจะจัดให้มีขึ้นทุกปี เพื่อรับทราบรายงานผลการดำเนินงาน และออกเสียงลงคะแนนในเรื่องต่างๆ เช่น อนุมัติงบการเงินของบริษัท การจ่ายปันผล การแต่งตั้งกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และกำหนดค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีหรือกรรมการ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทอาจจัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นครั้งคราวเพื่อพิจารณา เรื่องอื่นๆ ตามแต่จะเห็นสมควร ภายใต้กฎหมายหรือข้อบังคับบริษัท

2. คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบาย กลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานของบริษัท แต่งตั้ง กำกับดูแลกิจการและควบคุม การบริหารจัดการของคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ (President) ให้ดำเนินการตามนโยบายและเป้าหมายที่บริษัทกำหนด และมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท

3. ประธานกรรมการ มีหน้าที่กำกับดูแลให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการบริหาร เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่บริษัทกำหนด รวมถึงอนุมัติ จัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพิ่มเติมตามสมควร เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทสำเร็จลุล่วงตามหลัการกำกับดูแลกิจการที่ดี

4. คณะกรรมการบริหาร ทำหน้าที่เสนอแผนธุรกิจและงบประมาณของบริษัทเพื่อให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ กำกับดูแลการดำเนินงานของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่บริษัทกำหนด และมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริษัท

5. คณะกรรมการชุดย่อย ได้รับการอนุมัติจัดตั้งขึ้นโดยประธานกรรมการ เพื่อช่วยดำเนินงานในเรื่องต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ประกอบด้วย
คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง (Audit and Risk Management Committee)
คณะกรรมการ People (People Committee)
คณะกรรมการ ESG (ESG Committee)

6. กรรมการผู้จัดการ (President) และฝ่ายบริหาร ดำเนินงานอันเป็นกิจวัตรประจำวันของบริษัท และบริหารจัดการงานในด้านต่างๆ ของบริษัท ตามที่ได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหาร รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหารอย่างสม่ำเสมอ โดยกรรมการผู้จัดการ (President) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารจะต้องดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ข้อบังคับบริษัท มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น มติคณะกรรมการบริษัท และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

แผนภาพที่ 1: โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ThaiNamthip | governance

แผนภาพที่ 2: ผังโครงสร้างองค์กรของบริษัท

ThaiNamthip | governance

1. สิทธิของผู้ถือหุ้น (Rights of Shareholders)
บริษัทให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของบริษัท โดยส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิของตนตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น เช่น การมีส่วนแบ่งในกำไรของกิจการ การได้รับข้อมูลสารสนเทศของกิจการอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเพียงพอ ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท การเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อรับทราบผล การดำเนินงานประจำปี และการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติเรื่องต่างๆ ที่สำคัญตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรวมถึงการเสนอชื่อ แต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและพิจารณาค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี การจ่ายหรืองดจ่ายเงินปันผล ตลอดจนการซักถามหรือแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่คณะกรรมการบริษัทได้รายงานให้ทราบหรือได้ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น

2.ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ (Board Responsibilities)
บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ด้วยการบริหารจัดการที่แข็งแกร่งและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โดยคณะกรรมการบริษัทต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความรับผิดชอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม กลยุทธ์ และเป้าหมายการดำเนินงานของบริษัท ตลอดจนการกำกับดูแล และการประเมินผลการบริหารจัดการของฝ่ายบริหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในระยะยาว ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทต้องมั่นใจว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับบริษัท รวมถึงยังต้องตระหนักถึงการกำกับดูแลกิจการ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จริยธรรมทางธุรกิจ

ในการนี้ บริษัทมีโครงสร้างการบริหารงานที่แบ่งแยกอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ (President) เพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ของบริษัทตามนโยบายและเป้าหมายที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทให้สิทธิประธานกรรมการบริษัทสามารถ จัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ เพื่อกำกับดูแลและติดตามการดำเนินกิจการต่างๆ ของบริษัท ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

องค์ประกอบ ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละชุดพิจารณาได้ในกฎบัตร
คณะกรรมการและกฎบัตรคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละชุด


3. การพัฒนาความรู้ความสามารถของกรรมการ
บริษัทส่งเสริมให้กรรมการพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ เพื่อให้กรรมการปัจจุบันและกรรมการเข้าใหม่ให้เข้าใจธุรกิจของบริษัท บทบาทหน้าที่ของกรรมการ และพัฒนาการต่างๆ ที่สำคัญ ตลอดจนสนับสนุนให้กรรมการเข้ารับการอบรมหลักสูตรหรือกิจกรรมสัมมนาต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่

4. การแบ่งแยกอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหาร
บริษัทมีโครงสร้างการจัดการที่แบ่งแยกอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน โดยคณะกรรมการบริษัทในฐานะผู้กำกับดูแลเชิงนโยบาย มีหน้าที่ในการกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม กลยุทธ์ และเป้าหมายระยะยาวของบริษัท ตลอดจนควบคุมดูแล ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายบริหารในฐานะผู้บริหารงาน มีหน้าที่ในการปฏิบัติงานประจำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุผล และเป็นไปตามนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม กลยุทธ์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
รายละเอียดเพิ่มเติม พิจารณาได้ในกรอบการมอบอำนาจอนุมัติของคณะกรรมการและฝ่ายบริหาร (Chart of Authority)

5. แผนสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan)
คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง อันจะนำมาซึ่งการเติบโตและความก้าวหน้าขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้บริษัท จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งของตำแหน่งกรรมการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหาร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านขององค์กร และมีการพิจารณาทบทวนตามความเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่ามีผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถในการสืบทอดตำแหน่งที่สำคัญขององค์กรต่อไปในอนาคต

6. การควบคุมภายใน (Internal Control)
คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการมีระบบการควบคุมภายในที่ดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบริหารจัดการและการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปอย่างมีระเบียบและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายระยะยาวของกลุ่มบริษัท โดยกำหนดให้ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ในการจัดทำโครงสร้างของระบบการควบคุมภายในซึ่งครอบคลุม ในด้านต่างๆ ได้แก่ การควบคุมภายในองค์กร (Control Environment) การประเมินความเสี่ยง (Risk Management) การควบคุมการปฏิบัติงาน (Control Activities) ระบบสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล (Information & Communication) และระบบการติดตาม (Monitoring Activities) และนำไปปฏิบัติจริงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอและเหมาะสมกับสภาวการณ์ ณ ช่วงเวลาใดๆ โดยมีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

7. การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management)
การบริหารจัดการความเสี่ยงถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทมีนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อกลุ่มบริษัท ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในและภายนอก ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทไทยน้ำทิพย์จำแนกได้เป็น 4 ลักษณะ คือ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ (Operational Risk) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) และความเสี่ยงด้านข้อมูลสารสนเทศ (Information Risk) ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan) ประจำปี เพื่อให้การกำหนดแนวทางการจัดการความเสี่ยงนั้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ ทิศทางและเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท

บริษัทกำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนในกลุ่มบริษัทไทยน้ำทิพย์เป็นเจ้าของความเสี่ยง มีหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงของหน่วยงานของตน รวมถึงประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมความเสี่ยงที่มีอยู่ และนำเสนอแผนและวิธีการในการลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยหน่วยงานตรวจสอบภายในทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในเรื่องการบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน รวมถึงติดตามตรวจสอบและประเมินผลเพื่อให้มั่นใจว่าหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามแผนการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดไว้

รายละเอียดเพิ่มเติม พิจารณาได้ในคู่มือการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร

8. หน่วยงานตรวจสอบภายใน
หน่วยงานตรวจสอบภายในเป็นหน่วยงานอิสระภายในบริษัท รายงานตรงต่อคณะกรรมการตวจสอบและกำกับความเสี่ยง ทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินข้อมูลทั้งที่เป็นข้อมูลทางการเงินและไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน รวมทั้งสอบทานและประเมินความเพียงพอ ความมีประสิทธิภาพของการบริหารความเสี่ยง ระบบงานต่างๆ ความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ สอบทานและประเมินการควบคุมภายในของระบบการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในบริษัท ให้คำปรึกษา แนะนำหรือข้อคิดเห็นตลอดจนแนวปฏิบัติงาน เพื่อให้ระบบการควบคุมภายในที่รัดกุมและเหมาะสม ทำให้มั่นใจว่าบริษัทมีการกำกับดูแลและการควบคุมภายในที่ดี มีการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรที่เหมาะสม สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินงานขององค์กร

รายละเอียดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตรวจสอบภายในเพิ่มเติม พิจารณาได้ในกฎบัตรการตรวจสอบภายใน

9. การกำกับดูแลการปฎิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง (Compliance)
บริษัทกำหนดให้มีการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ในบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย แผนงาน ระเบียบข้อบังคับของบริษัท และเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปตามนโยบาย กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรอย่างเคร่งครัด ไม่มีประเด็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและข้อบังคับ อันจะเป็นรากฐานสำคัญให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงาน Compliance ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องแนวทางการปฏิบัติตามนโยบาย กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตาม ตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าหน่วยงานต่างๆ สามารถปฏิบัติตามรายละเอียดข้อบังคับที่กำหนดไว้

รายละเอียดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน Compliance เพิ่มเติม พิจารณาได้ในนโยบายการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับกฎบัตร Compliance

10. การจัดทำเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการควบคุมเอกสารสำคัญ
บริษัทให้ความสำคัญกับจัดทำเอกสารของบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษร และจะต้องได้รับการลงนามอนุมัติจากผู้มีอำนาจลงนามตามที่ระบุไว้ในกรอบอำนาจอนุมัติ (Chart of Authority) เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ ของบริษัท มีความโปร่งใส่ สามารถติดตามและตรวจสอบได้ รวมถึงสามารถจัดเก็บเอกสารสำคัญของบริษัทไว้เป็นหลักฐานใน ฐานข้อมูล ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ สามารถเข้าถึงและสืบค้นข้อมูล เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินงาน

บริษัทกำหนดนิยามของเอกสารและสัญญาไว้ดังนี้

“เอกสาร” หมายถึง กฎบัตร และขอบเขต อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการต่างๆ นโยบายบริษัท, ระเบียบปฏิบัติงาน หรือคู่มือการปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่เขียนเกี่ยวกับกฎบัตร จรรยาบรรณ กรอบอำนาจอนุมัติ นโยบายบริษัท สัญญา คู่มือ ระเบียบการปฏิบัติงาน คู่มือการทำงาน เอกสารสนับสนุน แบบฟอร์ม เอกสารภายนอก นอกเหนือจากที่ระบุนี้ ให้เรียกว่า “เอกสารทั่วไป” ซึ่งไม่อยู่ในการควบคุมภายใต้นโยบายนี้

“สัญญา” หมายถึง เอกสารหรือข้อตกลงเงื่อนไขหรือเอกสารใดๆที่เป็นข้อตกลงของบุคคลสองฝ่ายว่าจะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน

การจัดทำ “เอกสาร” และ “สัญญา” ต้องได้รับอนุมัติตามกำหนดในกรอบอำนาจอนุมัติและดำเนินการซึ่งบริษัทกำหนดให้มีรอบในการทบทวนเอกสาร ให้เป็นปัจจุบัน และ ส่งขออนุมัติประกาศใช้จากผู้มีอำนาจตามกรอบอำนาจอนุมัติ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง “เอกสาร” ให้เลขานุการบริษัทหรือหน่วยงาน ผู้ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่จัดเก็บรักษาเอกสาร สำหรับ “สัญญา” ให้หน่วยงานผู้ได้รับมอบหมายมีหน้าที่จัดเก็บรักษา โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าหน่วยงาน


11. การกำกับดูแลบริษัทในเครือ
บริษัท ในฐานะบริษัทแม่ ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยน้ำทิพย์ กำหนดนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการ กำหนดทิศทางและเป้าหมาย การดำเนินงานภายในกลุ่มบริษัท ตลอดจนติดตามการปฏิบัติตามในเรื่องดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจในการกำหนดทิศทางและรูปแบบ ในการดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์ แผนธุรกิจ งบประมาณ และจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ของกลุ่มบริษัทโดยรวม และมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท เช่น การลงทุนหรือการจำหน่ายไปซึ่งเงินลงทุน การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน การเข้าร่วมลงทุนหรือยกเลิกการเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทอื่น เป็นต้น

12. รายการระหว่างกันและรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
คณะกรรมการบริษัทกำหนดมาตรการการทำรายการระหว่างกันและรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ดังนี้

12.1 มาตรการหรือขั้นตอนการอนุมัติการทำรายการระหว่างกันของบริษัท
• รายการระหว่างกันหรือรายการที่เกี่ยวโยงกัน หมายถึง รายการระหว่างบริษัทหรือบริษัทในเครือกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน เช่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการ ผู้บริหาร รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทหรือบริษัทในเครือ รวมถึงบริษัทที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเป็นผู้มีอำนาจควบคุมด้วยเว้นแต่เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติ
• การทำรายการระหว่างกันจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท หรือผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตามแต่กรณี ทั้งนี้ การทำรายการระหว่างกันจะมีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อบังคับบริษัทจำกัด ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดในเรื่องการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น

12.2 ธุรกรรมที่ไม่ถือว่าเป็นรายการระหว่างกัน
ธุรกรรมที่เป็นข้อตกลงทางการค้าในลักษณะเดียวกับที่บุคคลทั่วไปจะพึงกระทำกับคู่สัญญาทั่วไปในสถานการณ์เดียวกัน ด้วยอำนาจต่อรองทาง การค้าที่ปราศจากอิทธิพลในการที่ตนมีสถานะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการหรือเป็นไปตามหลักการที่คณะกรรมการอนุมัติไว้แล้ว การให้กู้ยืมเงินตามระเบียบสงเคราะห์พนักงานและลูกจ้าง (ถ้ามี)
ธุรกรรมที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งของบริษัทหรือคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีสถานะเป็น (1) บริษัทในเครือที่บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทในเครือ หรือ (2) บริษัทในเครือที่กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องถือหุ้น หรือมีส่วนได้เสียอยู่ด้วย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

12.3 แนวโน้มการทำรายการระหว่างกัน
บริษัทอาจมีความจำเป็นในการทำรายการระหว่างกันกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกันหรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในอนาคต หากเกิดกรณี ดังกล่าว บริษัทจะกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการค้าโดยทั่วไป และในราคาตลาด ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับราคาและเงื่อนไขที่ให้กับบุคคลภายนอก และจะปฏิบัติตามประกาศและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการระหว่างกัน
บุคคลที่เกี่ยวโยงกัน หมายถึง บุคคลที่อาจทำให้กรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการตัดสินใจดำเนินงานว่าจะ คำนึงถึงประโยชน์ของบุคคลนั้น หรือประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ
หากมีรายการระหว่างกันของบริษัท หรือบริษัทย่อยเกิดขึ้นกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกันหรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ มีส่วนได้เสีย หรืออาจมีความขัดแย้งในลักษณะอื่น บริษัทจะดำเนินการให้คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับความเสี่ยง รวมถึงหน่วยงานตรวจสอบภายใน หน่วยงานกฎหมายและหน่วยงาน Compliance เป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นและความเหมาะสมของรายการนั้นๆ ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับความเสี่ยง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีความชำนาญในการพิจารณารายการระหว่างกันที่อาจเกิดขึ้น บริษัทจะให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระ ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ หรือผู้สอบบัญชีของบริษัท เป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับรายการระหว่างกันดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้นตามแต่กรณี

12.4 รายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
เพื่อมิให้เกิดรายการที่อาจมีความขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของกิจการและผู้ถือหุ้น และเพื่อดำรงไว้ซึ่งการกำกับดูแลกิจการที่ดี คณะกรรมการบริษัทกำหนดแนวทางเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัท ดังนี้
• การทำธุรกิจใหม่
คณะกรรมการบริหารจะต้องนำเสนอรายละเอียดของแผนการเข้าทำธุรกิจเหล่านั้นต่อคณะกรรมการบริษัท และจัดให้มีการพิจารณาแผนการลงทุน เหล่านั้น โดยต้องพิจารณาถึงผลตอบแทนและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อบริษัท และผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีนโยบายในการเข้าทำธุรกิจร่วมกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือเป็นการสนับสนุนธุรกิจของกลุ่มบริษัท และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของบริษัท และผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นหลัก และบริษัทจะต้องดำเนินการตามประกาศและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการระหว่างกัน
• การถือหุ้นในบริษัทที่บริษัทลงทุน
ในการลงทุนต่างๆ บริษัทมีนโยบายที่จะถือหุ้นด้วยตนเอง ยกเว้นในกรณีมีความจำเป็นและเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท หรือผู้ถือหุ้น โดยรวม โดยจะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอนุมัติ และบุคคลที่มีส่วนได้เสียจะต้องไม่อยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทขณะ การพิจารณารายการดังกล่าวและจะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน



13. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (Disclosure and Transparency)
บริษัทเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ โดยข้อมูลที่เปิดเผยจะต้องมีสาระสำคัญที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เป็นมาตรฐานสากล ผ่านการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยน้ำทิพย์

การรายงานทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน
คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ในการเปิดเผยสารสนเทศทั้งที่เป็นสารสนเทศทางการเงิน และไม่ใช่ทางการเงินอย่างครบถ้วน เพียงพอ เชื่อถือได้ และทันเวลา เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดทำและปรับปรุงข้อมูลของบริษัทให้มีความครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยสารสนเทศของ บริษัทจะต้องจัดทำขึ้นอย่างรอบคอบ มีความชัดเจน ถูกต้อง และโปร่งใส ด้วยภาษาที่กระชับและเข้าใจง่าย

ด้วยความมุ่งหมายให้กลุ่มบริษัทไทยน้ำทิพย์ประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักจริยธรรมอันดีบริษัทจึงกำหนดแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเป็นแนวทางให้กับบุคลากรของกลุ่มบริษัท ซึ่งรวมถึงกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทในเครือ ยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ นอกจากการประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว กรรมการ ผู้บริหาร และผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ในการสอดส่อง ดูแล และส่งเสริมผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่กำหนดด้วย

แนวปฏิบัติทางธุรกิจที่สำคัญ มีดังนี้

1. การเคารพสิทธิมนุษยชน
บริษัทให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยคำนึงถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ถิ่นกำเนิด เพศ สีผิว อายุ สมรรถภาพทางร่างกาย รสนิยมทางเพศ ความคิดเห็นทางการเมือง ฐานะ การศึกษา หรือสถานภาพอื่นใด รวมทั้งให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นบรรทัดฐานสากล

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องเคารพศักดิ์ศรีส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัว และสิทธิของบุคคลที่ติดต่อสื่อสารในระหว่างการทำงาน และไม่กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดหรือมีส่วนก่อให้เกิดการฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน

2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น
ผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของบริษัท มีสิทธิได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันตามสิทธิของผู้ถือหุ้นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับบริษัท ซึ่งรวมถึงสิทธิใน การเข้าประชุมผู้ถือหุ้นและสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ และสิทธิในการได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม เป็นต้น

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตนตามสิทธิของผู้ถือหุ้น ปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นด้วยความเคารพ รับฟังความคิดเห็นหรือข้อร้องเรียน ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท อย่างถูกต้องครบถ้วน และดำเนินงานของบริษัท เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม

3. การปฏิบัติต่อลูกค้า
บริษัทมุ่งมั่นสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ความปลอดภัย ความรับผิดชอบต่อลูกค้า และการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า ตลอดจนติดตามวัดผลความพึงพอใจของลูกค้าเพื่อพัฒนาและปรับปรุงสินค้าและบริการ ความสำเร็จของกลุ่มบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาและรักษา ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาว

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้าด้วยความเคารพและความเอาใจใส่ รับฟังความคิดเห็นหรือข้อร้องเรียน เข้าใจและคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า และ นำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าว อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าให้ยั่งยืน

4. การปฏิบัติต่อพนักงาน
พนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการดำเนินธุรกิจ การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีจะช่วยส่งเสริมการจ้างงานที่เป็นธรรม และการประพฤติปฏิบัติทางจริยธรรมที่มีคุณค่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี โดยยอมรับและเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานตามอนุสัญญามาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ การขจัดการใช้แรงงานเด็ก การห้ามใช้แรงงานบังคับหรือการเกณฑ์แรงงาน โอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน และความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน เป็นต้น

พนักงานมีสิทธิได้รับโอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและแรงงาน กฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ตลอดจนนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติทางธุรกิจฉบับนี้ เป็นฐานสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและพนักงาน และระหว่างพนักงานดัวยกันเอง

พนักงานมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม การฝึกอบรมทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ตลอดจนโอกาสในการเติบโตก้าวหน้า ในการทำงาน รวมทั้งมีสุขภาพอนามัยที่ดี และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้ ความสมดุลของชีวิตการทำงานจะส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต และยึดมั่นในจริยธรรม

บุคลากรของบริษัทจะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานและบุคคลอื่นที่ติดต่อสื่อสารในระหว่างการทำงานด้วยความเคารพ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุและผล และไม่กระทำ การซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ถิ่นกำเนิด เพศ สีผิว อายุ สมรรถภาพทางร่างกาย รสนิยมทางเพศ ความคิดเห็นทางการเมือง ฐานะ การศึกษา หรือสถานภาพอื่นใด ทั้งนี้ บริษัทไม่ยอมรับการกระทำในลักษณะที่ยอมรับไม่ได้หรือดูหมิ่นศักดิ์ศรีในสถานที่ทำงาน ซึ่งรวมถึงการทารุณจิตใจ การล่วงละเมิดหรือการเลือกปฏิบัติ ทางเพศ ตลอดจนการใช้ท่าทาง ภาษา หรือการสัมผัสทางกายที่ส่อลักษณะในทางเพศ บีบบังคับ ข่มขู่ เหยียดหยาม หรือเอาเปรียบ

บุคลากรของบริษัทจะต้องร่วมกันเสริมสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงานที่ดี และส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม

5. การปฏิบัติต่อคู่ค้า
บริษัทตระหนักดีว่าคู่ค้ามีส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยน้ำทิพย์ ความสามารถในการแข่งขัน และการผลิตสินค้าและบริการ โดยบริษัทยึดถือหลักการไม่เลือกปฏิบัติและการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการคัดเลือกคู่ค้าและในการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน เพื่อพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า อันจะนำไปสู่การเป็นพันธมิตรที่ สนันสนุนการดำเนินธุรกิจร่วมกันในระยะยาว

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องปฏิบัติต่อคู่ค้าด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม คัดเลือกคู่ค้าตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่บริษัทกำหนด เจรจาตกลงเข้าทำสัญญากับคู่ค้าด้วยเงื่อนไขและผลตอบแทนที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย และปฏิบัติต่อคู่ค้าให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาและนโยบายการกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติทางธุรกิจฉบับนี้ บุคลากรของบริษัทจะต้องใช้ความระมัดระวังในการคัดเลือกคู่ค้า ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติซึ่งไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณทางธุรกิจที่ดี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท

6. การปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า
บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อตรงและเป็นมืออาชีพ โดยสนับสนุนให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ตลอดจนไม่ดำเนินการใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศและในระดับสากล

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องปฏิบัติต่อคู่แข่งของกลุ่มบริษัท ภายใต้กฎหมายและนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และแนวปฏิบัติทางธุรกิจฉบับนี้ โดยมุ่งเน้นการแข่งขันที่เป็นธรรม ซื่อตรง และโปร่งใส ไม่กระทำการซึ่งทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งด้วยการกล่าวหาในทางเสื่อมเสีย รวมทั้งไม่แสวงหาข้อมูลหรือความลับของคู่แข่งด้วยวิธีการไม่สุจริตหรือ ไม่เหมาะสม

7. การปฏิบัติต่อเจ้าหนี้
บริษัทมุ่งเน้นสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัท โดยการปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ด้วยความสุจริต โปร่งใส และเท่าเทียมกัน

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องยึดมั่นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญากับเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด ดูแลให้มีการชำระเงินกู้และดอกเบี้ยถูกต้อง ตรงต่อเวลา ตลอดจนไม่นำเงิน กู้ยืมไปใช้ในทางที่ขัดต่อวัตถุประสงค์การกู้ยืม และไม่ปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ของบริษัท

8. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยน้ำทิพย์ บริษัทมีการควบคุมและตรวจสอบอย่างรัดกุมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวน การจัดซื้อจัดจ้าง จัดหาวัตถุดิบ ซึ่งต้องคำนึงถึงความต้องการ ความคุ้มค่าราคา และคุณภาพของสินค้าและบริการ การผลิต การขนส่งกระจายสินค้า และการบริหารสินค้าคงคลัง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถส่งมอบสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทมีการดำเนินการอย่างมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากร ลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ผู้รับจ้าง ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหาและจัดการวัตถุดิบ ต้องคำนึงถึงความต้องการ ความคุ้มค่าราคา และคุณภาพของสินค้าและบริการ เป็นสำคัญ มุ่งพัฒนาขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุน ติดตามเหตุการณ์เพื่อให้ทันสมัยทันเวลา ลดการสูญเสีย ควบคุมคุณภาพและวัตถุดิบ ตลอดจนการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ควบคุมและบริหารจัดการดูแลสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ ในคลังสินค้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งมอบสินค้าและบริการให้แก่ลูกค้า

รายละเอียดพิจารณาเพิ่มเติมในนโยบายการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง

9. ความรับผิดชอบต่อสังคม
การดำเนินธุรกิจอย่างมีจิตสำนึกต่อสังคมและชุมชนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในระดับชุมชนและในระดับประเทศ บริษัทยึดมั่นในเจตนารมณ์ของ การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและชุมชน ซึ่งจะเสริมสร้างความเข้มแข็งและนำมาซึ่งประโยชน์สุขของสังคมและชุมชนโดยรวม

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาสังคมและชุมชน ซึ่งไม่เพียงตอบสนองความต้องการของสังคมและชุมชน และความคาดหวังของ ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง แต่ยังเป็นการสนับสนุนให้บุคลากรของบริษัทมีส่วนร่วมและตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตนต่อสังคมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

10. สิ่งแวดล้อม
บริษัทมุ่งเน้นการรักษาความสมดุลในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการมีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจ พัฒนา และปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับในประเทศและในระดับสากล ตลอดจนปลูกฝังวัฒนธรรมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างต่อเนื่อง

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัท จะต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยร่วมกันป้องกันและจัดการการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พลังงาน น้ำ รวมถึงมีส่วนร่วมในการลดการปลดปล่อยและจัดการของเสียซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอเสียทางอากาศ หรือของเสีย ในแหล่งน้ำ และจัดซื้อจัดหาและคัดเลือกคู่ค้าที่มีจิตสำนักต่อสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นเดียวกันกับกลุ่มบริษัท

11. ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
บริษัทให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและถูกต้องตามหลักอาชีวอนามัย และมุ่งมั่นในการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยและ อาชีวอนามัยในสถานที่ทำงาน โดยกำหนดมาตรการป้องกันอุบัติเหตุและโรคภัยในการทำงานตามกฎหมายและมาตรฐานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ได้รับการยอมรับ ในประเทศและในระดับสากล

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องยึดถือปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎระเบียบด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างเคร่งครัด เข้ารับฝึกการอบรมและรับทราบการสื่อสารในประเด็นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนสามารถระบุ รายงาน และมีส่วนร่วมในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยและ สุขอนามัยในสถานที่ทำงาน

12. การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
การทุจริตคอร์รัปชัน หมายถึง การแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นในทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและ ความเสียหายต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติโดยรวม การทุจริตคอร์รัปชันรวมถึงการรับหรือติดสินบน การช่วยเหลือทางการเมือง การบริจาคเพื่อการกุศล เงินสนับสนุน ค่าของขวัญ ค่าบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นต้น การแสดงเจตนารมณ์เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกคน บริษัทมีความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีนโยบายลงโทษหรือกระทำการใดๆ ในทางลบต่อบุคลากรของ บริษัทที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้กลุ่มบริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัท รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท จะต้องปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทอย่างเคร่งครัด ตลอดจนไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการทุจริตคอร์รัปชันไม่ว่ารูปแบบใด ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริตในการติดต่อทำธุรกรรมกับคู่ค้า พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่อาจส่งผลต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสม และขัดแย้งต่อนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท หรือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายว่าด้วยการทุจริต คอร์รัปชัน

รายละเอียดเพิ่มเติม พิจารณาในนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน แนวทางและขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ

13. การป้องกันการฟอกเงิน
บริษัทยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการฟอกเงินทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใดใช้กลุ่มบริษัทเป็นช่องทางหรือเครื่องมือในการถ่ายเท ปกปิด หรืออำพรางแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เสมือนว่าได้มาจากการดำเนินธุรกิจโดยชอบด้วยกฎหมาย

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องใช้ความระมัดระวังในการคัดเลือกคู่ค้า และตรวจสอบประวัติของคู่ค้าอย่างรอบคอบ โดยจะต้องดำเนินธุรกิจโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มี การประพฤติปฏิบัติที่อาจเข้าข่ายเป็นการฟอกเงิน หรือสนับสนุนการฟอกเงิน บุคลากรของบริษัทจะต้องป้องกันและสองส่องดูแลไม่ให้มีการรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน หรือสนับสนุนให้มีการรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน ซึ่งเป็นรูปแบบ การชำระราคาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกับบริษัท

14. กิจกรรมทางการเมือง
บริษัทเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมือง สนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมาย และการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือ ให้ความช่วยเหลือทางการเมืองแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมือง บริษัทเคารพและสนับสนุนให้บุคลากรของบริษัทใช้สิทธิทางการเมืองของตนตามครรลองของกฎหมาย

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัท มีสิทธิที่จะแสดงออก เข้าร่วม สนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองได้นอกเวลาการทำงาน ในนามส่วนตัว โดยใช้ทรัพยากรของตนเอง และจะต้องไม่กระทำ การอันใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในนามของบริษัท ภายในสถานที่ของบริษัท หรือใช้ทรัพยากรของบริษัท เพื่อดำเนินการดังกล่าว

15. การไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่มีค่าในการดำเนินธุรกิจและอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน กลุ่มบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาและเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สิ่งประดิษฐ์ ความลับทางการค้า และ Know-how เป็นต้น

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องรักษาความลับทางการค้าและ Know-how ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท รวมถึงสอดส่องดูแลและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท จากการเข้าถึงโดยมิได้รับอนุญาต การส่งต่อ และการใช้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องเคารพและไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

16. การรักษาความลับ
ข้อมูลสำคัญหรือเป็นความลับเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของกลุ่มบริษัท การเข้าถึงหรือการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อ บุคลภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาตอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลซึ่งได้รับหรือเกี่ยวข้องกับลูกค้า พนักงาน หรือบุคคลภายนอกจะต้องได้รับการคุ้มครองและเก็บรักษาไว้เป็นความลับตามกฎหมายและข้อกำหนดในสัญญา

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องตระหนึกถึงความสำคัญของข้อมูลซึ่งตนมีสิทธิเข้าถึง และใช้ความระมัดระวังในการติดต่อสื่อสาร ให้หรือส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือกลุ่มบริษัท เพื่อป้องกันมิให้ข้อมูลนั้นรั่วไหล และหลีกเลี่ยงมิให้บุคคลภายนอกหรือผู้ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้หรือเผยแพร่โดยมิชอบ หากต้องมีการให้หรือส่งต่อข้อมูลสำคัญหรือเป็นความลับให้แก่บุคคลภายนอก บุคลากรของบริษัทจะต้องดำเนินการให้มั่นใจว่า มีการทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงรักษาความลับ (Confidentiality Agreement or Memorandum) กับบุคคลดังกล่าวแล้ว

บุคลากรของบริษัทมีหน้าที่ในการรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญหรือเป็นความลับให้แก่บุคคลภายนอก แม้ภายหลังการทำงานกับบริษัทจะสิ้นสุดลง เช่น เกษียณอายุ ลาออก เลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างใดๆ ตลอดระยะเวลาที่ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นความลับ

17. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ปัจจุบันการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การติดต่อสื่อสาร และการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานและความสำเร็จของธุรกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศนำมาซึ่งความเสี่ยงในการรักษาความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทตระหนักถึงความสำคัญและ ความรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ การรวบรวม ประมวลผล หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลซึ่งได้รับหรือเกี่ยวข้องกับลูกค้า พนักงาน หรือบุคคล ภายนอก จะต้องกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและ ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำกัดเฉพาะเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน การดูแลลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมทางธุรกิจหรือการค้า และการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล อย่างเหมาะสม

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องจัดการข้อมูลส่วนบุคคลด้วยความระมัดระวังรอบคอบ โดยรวบรวม ประมวลผล และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลตามที่ได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนใม่ใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือในลักษณะที่ไม่เหมาะสม

รายละเอียดเพิ่มเติมพิจารณาได้ในนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและนโยบายความเป็นส่วนตัว

18. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หมายถึง การมีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ภายนอกที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผลประโยชน์ส่วนตัวอาจเป็นผลประโยชน์ทางการเงินหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือผลประโยชน์หรือความสัมพันธ์อื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาและตัดสินใจ

แนวปฏิบัติ
บุคลากรของบริษัทจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และความรับผิดชอบต่อบริษัท โดยจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท และหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิด ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่ใช้อำนาจของตนเพื่อโน้มน้าวการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนตน พิจารณาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเป็นอิสระภายใน กรอบจริยธรรมที่ดี ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทโดยรวมเป็นสำคัญ

บุคลากรของบริษัทจะต้องไม่ประกอบกิจการที่เป็นการแข่งขัน หรือมีลักษณะเดียวกันกับกลุ่มบริษัท และไม่แสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลภายในของกลุ่มบริษัท ตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบในบริษัท

บุคลากรของบริษัทจะต้องไม่มีหน้าที่หรือตำแหน่งภายนอกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงาน เว้นแต่หน้าที่หรือตำแหน่งดังกล่าวจะได้รับ การอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากหัวหน้างาน

19. การรายงานหรือแจ้งเรื่องร้องเรียน
บุคลากรของบริษัทจะต้องไม่เพิกเฉยหรือละเลยต่อการฝ่าฝืนนโยบายและแนวปฏิบัติทางธุรกิจฉบับนี้ รวมถึงข้อกำหนดหรือนโยบายต่างๆ ของบริษัท หากมีข้อสังสัยหรือต้องการคำแนะนำในกรณีใดๆ เป็นการเฉพาะเจาะจง หรือพบการฝ่าฝืนหรือการกระทำที่อาจเป็นการฝ่าฝืนนโยบายและแนวปฏิบัติทางธุรกิจ บุคลากรของบริษัท สามารถติดต่อ หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน EthicsLine

ข้อมูลทั้งหมดถือเป็นความลับ โดยผู้รายงานหรือแจ้งเรื่องร้องเรียนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้รายงานหรือแจ้งเรื่องร้องเรียน บริษัทจะปกปิดชื่อหรือข้อมูลใดที่สามารถระบุตัวผู้รายงานหรือแจ้งเรื่องร้องเรียน และจะเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวและเอกสารหลักฐานต่างๆ ไว้เป็นความลับ โดยจำกัดเฉพาะ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน

20. บทลงโทษ
บุคลากรของบริษัท ที่กระทำการฝ่าฝืนนโยบายกำกับดูแลกิจการและแนวปฏิบัติทางธุรกิจฉบับนี้ รวมถึงข้อกำหนดและนโยบายต่างๆ ของบริษัทซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบในทางลบต่อบริษัท นอกจากจะมีโทษตามกฎหมายในเรื่องนั้นๆ ยังอาจเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัท ซึ่งมีโทษทางวินัย โดยบทลงโทษทางวินัยสามารถแบ่งเป็น 5 ลำดับขั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะแห่งความผิดหรือความหนักเบาของการกระทำความผิดหรือตามความร้ายแรงที่เกิดขึ้น ดังนี้
• ตักเตือนด้วยวาจา โดยบันทึกเป็นหนังสือไว้เป็นหลักฐาน
• ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
• ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และให้พักงาน
• เลิกจ้างโดยได้รับค่าชดเชย
• เลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย

นอกจากนี้ บุคลากรของบริษัทอาจได้รับโทษทางวินัย เนื่องจากการขอให้ผู้อื่นกระทำการฝ่าฝืน การไม่รายงานการฝ่าฝืนโดยทันที การไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ การกระทำที่อาจเป็นการฝ่าฝืน การรายงานหรือแจ้งข้อร้องเรียนเท็จ หรือการกลั่นแกล้งหรือตอบโต้ผู้รายงานหรือแจ้งข้อร้องเรียนโดยสุจริต